Search

ค้นหา

Translate

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

กินอาหารเสริมมั่วๆเสี่ยงแก่เร็วก่อนวัย

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการรับประทานอาหารเสริมกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนที่รักสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหารเสริม ว่ามีความจำเป็นต่อร่างกายหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่มีราคาแพง

หากร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่ต้องการวิตามินเข้าเสริมทดแทน การซื้อรับประทานอาจไม่มีประโยชน์ ทั้งอาจเกิดโทษต่อร่างกายได้ ซึ่งผู้ต้องการอาหารเสริม คือ คนป่วยที่ไม่สามารถรับอาหารตามปกติ หรือคนแก่ที่ไม่สามรถเคี้ยวอาหารได้มาก ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอาหารเสริมชนิดใดหรือยี่ห้อใด สามารถทดแทนสารอาหารที่ได้รับจากการทานอาหารในแต่ละมื้อได้ เช่น วิตามินเอ ที่มีสารเบต้าแคโรทีน มีสรรพคุณต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งในมะเขือเทศมีวิตามินเอมากถึง 600 ชนิด

ดังนั้น วิตามินเอเสริมจึงไม่สามารถทดแทนได้ ดังนั้นจึงไม่ควรทานอาหารเสริมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทานควบคู่ไปกับอาหารในแต่ละมื้อด้วยหรือไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมเลยก็ได้

นพ.กฤษดา กล่าวว่า วิธีเลือกทานอาหารเสริมก็มีความสำคัญ หากขาดความรู้ที่ดีการทานอาหารเสริมก็ไม่มีประโยชน์ได้ เช่น บางคนเข้าใจผิดว่าเมื่อทานแคลเซียมเสริมไปแล้ว ร่างกายจะได้แคลเซียมไปเสริมกระดูก แต่การที่แคลเซียมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีแมกนีเซียมเพื่อช่วยดูดซึม

ดังนั้นหากทานแคลเซียมเสริมที่ไม่ดี ราคาถูกมากๆ การดูดซึมก็จะไม่ดี และอาจไปจับตัวเป็นหินปูน ทำให้เกิดกระดูดงอกกระดูกย้อย หรือเป็นนิ่วได้

ดังนั้นการเลือกอาหารเสริมที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เลือกเพราะเป็นของวิตามินแต่ละตัว เช่น วิตามินเอจะทำงานได้ดีก็ต้องมีวิตามินซีกับดีร่วมด้วย ดังนั้นก่อนซื้ออาหารเสริมมารับประทานจะต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อน

นพ.กฤษดา กล่าวว่าก่อน อาหารเสริมจะต้องศึกษาให้ละเอียด โดยดูที่ฉลากว่าเป็นแบบธรรมชาติหรือแบบสังเคราะห์ ซึ่งหากได้จากธรรมชาติหรือมีความใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด จะมีการดูดซึมได้ดี ตรงข้ามกับแบบสังเคราะห์ที่มีบางชนิด อาจจะส่งผลตรงข้ามแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น วิตามินอี

หากมาจากธรรมชาติจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่ถ้าเป็นวิตามินอีสังเคราะห์ก็จะส่งผลตรงข้ามคือทำให้เกิดโรคหัวใจหรือวิตามินสังเคราะห์บางชนิด เมื่อทานเข้าไปแทนที่จะช่วยให้มีสุขภาพดีกลับทำให้แก่เร็วหรือทำให้เป็นโรคมากขึ้นเช่นมะเร็งได้

ดังนั้นหากเลือกรับประทานอาหารให้มีสารอาหารครบในแต่ละมื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมก็ได้

นพ.กฤษดา กล่าวว่า ปัจจุบันแพทย์อเมริกันส่วนใหญ่หันมารักษาคนไข้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ควบคู่กับวิธีทางธรรมชาติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ใช้คีโมรักษา จะให้กินยาร่วมกับบร็อกโคลี วันละ 5 กำมือ เพราะมีสารที่ต้านมะเร็ง ไม่จำเป็นต้องกินแต่อาหารเสริมที่มีราคาแพง หรือการดื่มน้ำเต้าหู้ที่มีราคาถูกเพียงถุงละ 5-7 บาท ร่างกายก็จะได้รับเอนไซม์ เป็ปไทน์

ขณะที่สารต่อต้านอนุมูลอิสระ ในสารโคเอนไซม์ คิวเทน ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหามารับประทานเพราะร่างกายสร้างเองได้ และมีอยู่ในทุกส่วนตั้งแต่หัวจรดเท้า และมีมากในอวัยวะที่ใช้พลังงานมาก เช่น หัวใจและสมอง แต่จะสร้างน้อยลงตามอายุ

ดังนั้นผู้ที่ควรทานอาหารเสริมชนิดนี้ คือ คนแก่หรือผู้สูงวัย อย่างไรก็ตามสารชนิดนี้มีในอาหาร เช่น ตับ เนื้อปลา บร็อคโคลี ถั่ว แต่บางคนไม่ชอบกินตับ ก็เลือกกินอาหารเสริมได้ แต่ต้องเลือกที่ดูดซึมได้ดีซึ่งโคเอนไซม์คิวเทนจะดูดซับได้ดีถ้าทานคู่กับไขมัน เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกชนิดที่มีไขมันหุ้ม หรือในรูปแคปซูลไขมันหุ้ม

"เราไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริม แต่ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนก็เพียงพออย่างไรก็ตามอาหารเสริมที่ขายอยู่ตามท้องตลาด หากมีเครื่องหมาย อย.ก็กินได้ ไม่อันตราย แต่จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนที่กินเข้าไป

หากคนนั้นไม่ทานอาหารสดก็จะไม่ช่วยอะไร เพราะวิตามินเหล่านี้ทำงานเป็นทีม ไม่มีตัวใดทำงานโดดเด่นตัวเดียว เช่น โคคิวเทน ต้องกินร่วมกับไชมันถ้ากินอย่างเดียว ไม่กินไขมัน การดูดซึมก็จะไม่ดี และจะถูกย่อยขับออกมาเป็นปัสสาวะที่แพงมาก" นพ.กฤษดากล่าว

แนะวิธีเลือกกินอาหารเสริม 4 วิธีคือ

1.เลือกอาหารเสริมแบบที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด โดยดูที่ฉลากว่าเป็นธรรมชาติหรือไม่ เพราะจะดูดซึมได้ดีกว่าแบบสังเคราะห์

2.ดูปริมาณสารในแต่ละเม็ดว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะบางชนิดมีวิตามินครบทั้ง a-z รวมใน 1 เม็ด แต่อาจจะมีปริมาณวิตามินละอย่าง 1 มิลลิกรัม หรือ 1 ไมโครกรัมเท่านั้น ที่เหลือเป็นแป้ง

3.เลือกทานวิตามินที่จับคู่ถูกกัน เช่น วิตามินเอ อี ดี และ เค ต้องทานคู่กับไขมัน เพราะละลายได้ดีในไขมัน ส่วนแคลเซียมทานคู่กับแมกนีเซียม ส่วนน้ำมันตับปลาต้องมีอีพีเอ หรือดีเอชเอ

4.ต้องไม่เป็นอาหารเสริมที่มีราคาถูกเกินไป เพราะส่วนใหญ่จะเป็นแบบสังเคราะห์หรือไม่มีคุณภาพ เช่น แคลเซียม อาจสังเคราะห์มาจากหินปูน หรือหินชอล์ก จาก จ.สระบุรี หรือกระดูกวัว กระดูกควาย และอาจจะมีสารตะกั่วหรือโลหะหนักปะปนอยู่ด้วย ดังนั้นจะต้องดูว่าผ่าน อย.หรือไม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

รายการบล็อกของฉัน