ผลวิจัยใหม่ระบุ ‘ช็อกโกแลต’ ช่วยลดน้ำหนัก แถมป้องกันโรคอัลไซเมอร์
คนรักช็อกโกแลตได้เฮ เมื่อผลวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่าการรับประทานช็อกโกแลตมีผลดีต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด
ต่างประเทศ
ทีมวิจัยจามหาวิทยาลัยเจิ้งโจวของจีนเพิ่งเผยแพร่ผลลัพธ์จากกรณีศึกษาเกี่ยวช็อกโกแลตในวารสาร Journal of Functional Foods เมื่อต้นเดือนนี้ว่า สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบในช็อกโกแลตชื่อว่าธีโอโบรมีน (Theobromine) นั้น มีประโยชน์สูงต่อร่างกายและสมองของมนุษย์ โดยชี้ว่าสารเคมีที่พบมากในโกโก้นี้ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง และสามารถช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยในคราวนี้ระบุว่า ธีโอโบรมีนยังสามารถช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในอวัยวะที่ใช้งานด้านเก็บความทรงจำ มันจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมองและช่วยกระตุ้นความรู้สึกแง่บวกที่ช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้
ในรายงานการวิจัยระบุว่า ธีโอโบรมีนมีคุณสมบัติในการป้องกันระบบประสาท โดยช่วยปกป้องระบบประสาทไม่ให้เกิดความเสียหายและส่งเสริมกระบวนการจดจำและกระบวนการรับรู้ข้อมูลเพื่อนำไปคิดและตัดสินใจของสมอง
ทีมวิจัยชี้ว่า หากนำสารเคมีตัวนี้มาใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยป้องกันโรคผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับสมอง โดยมีผลข้างเคียงน้อยมากและแทบจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
นอกจากนี้ การรับประทานช็อกโกแลตยังช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนักได้ด้วย แม้ว่าจะดูขัดแย้งต่อความเชื่อที่มีมาก่อนหน้านี้ เพราะสารธีโอโบรมีนสามารถช่วยให้ไขมันในร่างกายแตกตัวได้ดี นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในเชิงบวกต่ออวัยวะสำคัญ เช่น ตับและไต
ทีมงานอ้างกรณีศึกษาอีกกรณีหนึ่งที่พบความเกี่ยวข้องระหว่างตับที่มีไขมันพอกทั้งที่บุคคลนั้น ๆ ไม่ได้มีนิสัยชอบดื่มแอลกอฮอล์กับภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือโรคอ้วน ซึ่งระบุว่า เมื่อตรวจสอบผลกระทบของธีโอโบรมีนต่อหนูในการทดลองที่มีภาวะไขมันพอกตับ ก็พบว่าสารเคมีดังกล่าวช่วยให้น้ำหนักของร่างกายลดลง ขณะเดียวกัน ขนาดและน้ำหนักของตับก็ลดลงด้วย
นอกจากนี้ ธีโอโบรมีนยังปกป้องไตโดยมันมีฤทธิ์ยับยั้งการก่อตัวของก้อนนิ่ว
นักวิจัยเหล่านี้ยังระบุว่า การรับประทานช็อกโกแลตสามารถช่วยกระตุ้มภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะมันออกฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์ต่าง ๆ เมื่อเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์กระดูกอ่อน