ข้าวแช่
เล่ากันว่า ข้าวแช่ ที่ เกาะเกร็ด เป็นข้าวแช่สูตรดั้งเดิม อาจารย์เฉลิมศักดิ์ ปาละ เจ้าของร้านแก่นจันทน์ ผู้มีเชื้อสายมอญ เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า ข้าวแช่มีมานานแล้ว แต่เมื่อไหร่ไม่รู้ มีนิทานเล่าประกอบว่า เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีผัวเมียคู่หนึ่ง ข้างบ้านของเศรษฐีคือขี้เมา วันหนึ่งขี้เมาตบตีภรรยา เศรษฐีเข้าไปห้ามปราม จึงโดนขี้เมาต่อว่ารวยซะเปล่าแต่ไม่มีลูกสืบสกุล ถึงแม้ตนเองจะขี้เมา หรือ ไม่ดีอย่างไร ก็มีลูกสืบสกุล เศรษฐีได้ฟังเช่นนั้นเกิดละอายใจ ปรารถนามีบุตร จึงปรึกษาพราหมณ์ได้ความว่า ต้องทำข้าวแช่ และกับข้าว 7 อย่าง ด้วยความพิถีพิถัน แล้วบูชาที่โคนต้นไทร อันเป็นที่อยู่ของฝูงนกริมแม่น้ำ ตั้งอธิฐานขอบุตร ต่อมาเศรษฐีได้บุตรจริง จึงตั้งชื่อว่า ‘ธรรมาบาล’ เมื่อเจริญเติบโต มีความเฉลียวฉลาด พระพรหมจึงอยากลองเชิง ถามปัญหาสามข้อกับธรรมาบาลว่า เช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด โดยให้เวลา 3 วัน หากตอบได้จะยอมตัดศีรษะบูชา ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมาบาลแทน ธรรมาบาลคิดอยู่นานแต่นึกหาคำตอบไม่ได้ จนเกือบครบวันที่ 3 ธรรมาบาลไปนอนใต้ต้นไม้ นกอินทรี บางฉบับบอกว่าเป็น นกแล้ง คู่สามีภรรยา ทำรังบนกิ่งไม้เหนือธรรมาบาลนอน โดยไม่รู้ว่าธรรมาบาลรู้ภาษานก นกตัวเมียถามนกตัวผู้ว่า เราจะกินอะไรกัน สามีบอกว่า พรุ่งนี้จะกินศพธรรมาบาล เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกจึงถามสามีว่า แล้วท่านรู้ไหมว่าคำตอบคืออะไร สามีนกบอก ‘เช้าราศีอยู่ที่หน้า เที่ยงราศีอยู่อก ค่ำราศีอยู่เท้า’ ธรรมาบาลได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจ วันรุ่งขึ้นพระพรหมถามปัญหา ธรรมาบาลแก้ตามที่ได้ยินจากนก พระพรหมจึงถูกตัดคอ โดยมีเทพธิดาทั้ง 7 ลูกสาวของพระพรหม ถือพานรองรับศีรษะ เนื่องจากว่า ศีรษะพระพรหมหากตกแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำจะแห้งหมด จึงเป็นที่มาของตำนานสงกรานต์นั่นเอง “จริงแล้ว การทำข้าวแช่ เป็นเพียงการหลอกคนแก่ให้กินข้าว เพราะหน้าหนาว และหน้าร้อนคนแก่จะเบื่ออาหาร เนื่องจากกินหมากพลู เคี้ยวมาก ลิ้นก็ไม่รับรส อาหารที่ทำให้คนแก่ทาน จึงต้องรสจัด หวาน มัน เค็ม ให้รู้รส จะช่วยยืดอายุของคนแก่ได้” อาจารย์เฉลิมศักดิ์ว่าอย่างนั้น